กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตร

 กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 5 ประการ ดังนี้
1. การกำหนดความมุ่งหมายของหลักสูตร
การให้การศึกษาแก่เยาวชนทั้งประเทศจำต้องใช้หลักสูตรหลาย ๆ หลักสูตร เช่น หลักสูตรในระดับประถม หลักสูตรในระดับมัธยม และหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น หลักสูตรแต่ละระดับนี้สนองความต้องการของกลุ่มเยาวชนที่มีสภาพทางจิตใจ ร่างกาย มีความสามารถในการเรียนรู้ และมีความต้องการทางการศึกษาแตกต่างกันออกไป ดังนั้นหลักสูตรแต่ละหลักสูตรจึงต้องมีความมุ่งหมายที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหมายของหลักสูตรแต่ละระดับควรสอดคล้องและเสริมความมุ่งหมายทางการศึกษาในระดับชาติ กิจกรรมแรกนี้เป็นความพยายามที่จะหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า จะให้การศึกษาไปเพื่ออะไรผู้พัฒนาหลักสูตรจะตอบคำถามนี้ได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อได้ทำการสำรวจและวิจัยข้อมูลด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาหรือความต้องการอย่างแท้จริงของสังคมเสียก่อน
2.  การเลือก การจัดเนื้อหาวิชาและประสบการณ์
เมื่อได้กำหนดแล้วว่าความมุ่งหมายของหลักสูตรมีอะไรบ้าง กิจกรรมขั้นที่สองในการพัฒนาหลักสูตรคือ การเลือกสรรวิชาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เมื่อเลือกเนื้อหาวิชาและประสบการณ์มาแล้ว ผู้พัฒนาหลักสูตรยังต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า เนื้อหาสาระอะไรควรไปสอนก่อนหรือสอนหลัง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาไปได้อย่างสัมฤทธิผลสูงสุด ในขั้นที่สองนี้ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องตีปัญหาสองปัญหาให้แตกคือ
1.  เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้เรียนควรรู้อะไรและควรมีประสบการณ์อะไรบ้าง
2.  จะจัดลำดับของความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นอย่างไร จึงจะเกิดผลการเรียนที่สูงสุด
การพัฒนาหลักสูตรในสองขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นนับได้ว่าเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่ได้ผลงานออกมาแล้ว ผลที่ได้คือตังรูปเล่มของหลักสูตรที่เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ บรรจุความมุ่งหมาย และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาและกิจกรรม ลำดับก่อนหลังของการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้แก่ผู้เรียน พร้อมทั้งการกำหนดเวลาในการเรียน ตัวอย่างของผลงานที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรสองขั้นแรก ได้แก่ หลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ฉบับปี พ.. 2503 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ออกใช้ หลักสูตรในความหมายนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นเพียงโครงการที่อยู่บนกระดาษ กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจะสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยกระบวนการอีกสามขั้นตอนคือ การนำเอาหลักสูตรไปใช้ให้เกิดผลแก่ผู้เรียน การประเมินผลหลักสูตร และการนำเอาข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลหลักสูตรไปปรับปรุงแก้ไข
3.  การนำเอาหลักสูตรไปใช้
การนำเอาหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การที่ผู้บริหารโรงเรียนและครู นำเอาโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มเหล่านั้นไปปฏิบัติให้เกิดผล ขั้นตอนที่สามนี้รวมถึงการบริหารงานทางด้านวิชาการของโรงเรียน เพื่ออำนวยให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
แม้ว่าขั้นตอนที่สามนี้จะรวมกว้าง ๆ ถึงการบริหารงานด้านวิชาการของโรงเรียนก็ตาม หัวใจของการนำเอาหลักสูตรไปใช้คือการสอน และบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้คือครู
4. การประเมินผลหลักสูตร
การประเมินผลหลักสูตรคือ การหาคำตอบว่า หลักสูตรสัมฤทธิผลตามที่กำหนดไว้ในความมุ่งหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงไร และอะไรเป็นสาเหตุ การประเมินหลักสูตรเป็นงานที่ละเอียด ต้องการผู้ที่มีความรู้ทั้งในเรื่องของหลักสูตรและการประเมินผล
                ความพยายามที่จะค้นพบว่า อะไรเป็นสาเหตุ นี้เองทำให้การประเมินผลหลักสูตรกินขอบเขตกว้างขวางมาก หลักสูตรไม่สัมฤทธิผลอาจเป็นเพราะความมุ่งหมายสูงเกินไป หรือเพราะความมุ่งหมายมากเกินไป ผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะดำเนินการตามนั้นได้ทุกประการหรืออาจเป็นเพราะเลือกเนื้อหาหรือประสบการณ์ไม่สัมพันธ์กับความมุ่งหมาย ครูสอนไม่เป็น โรงเรียนขาดวัสดุอุปกรณ์ ไม่มีคู่มือหลักสูตร ไม่มีประมวลการสอน ฯลฯ สรุปแล้วการประเมินผลหลักสูตรครอบคลุมไปจนถึงการพิจารณาขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรทั้งสามเพื่อหาข้อบกพร่อง
                การประเมินผลหลักสูตรเป็นงานใหญ่ มีขอบเขตกว้างขวาง ผู้ประเมินจำต้องวางโครงการการประเมินผลไว้ล่วงหน้าว่าจะมีกระบวนการอย่างไร มีวิธีการอย่างไร ดังนั้นโครงการประเมินผลหลักสูตรดังกล่าวจำต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ และเมื่อนำไปใช้ประเมินแล้วควรมีการประเมินผลโครงการผลของหลักสูตรนั้น ๆ ด้วยว่า มีความสมบูรณ์รอบคอบและเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร
5. การปรับปรุงหลักสูตร
กระบวนพัฒนาหลักสูตรมีลักษณะเป็นวัฏจักร เริ่มต้นด้วยการกำหนดความมุ่งหมาย เลือกและจัดเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ให้สอดคล้องกับความมุ่งหมาย นำหลักสูตรไปปฏิบัติให้เกิดผลตามที่มุ่งหมายไว้ ประเมินผลหาข้อบกพร่องของกระบวนการนี้ และนำเอาผลที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตร การปรับปรุงหลักสูตรจึงเริ่มต้นด้วยกระบวนการและขั้นตอนเดิมอีกคือ ปรับปรุงความมุ่งหมาย เมื่อความมุ่งหมายซึ่งเป็นแม่บทเปลี่ยนไป กระบวนการที่เหลือก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องรับกัน จนมาถึงการประเมินผลหลักสูตร และนำเอาข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลไปปรับปรุงหลักสูตรอีก เป็นวัฏจักรวนเวียนต่อเนื่องกัน